วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

สมาชิกในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม

     1. นางสาวศรัญญา  กลดี        
         รหัสนักศึกษา 52191880219
     2. นางสาวสมร  เวียงคำ         
         รหัสนักศึกษา  52191880229
     3. นางสาวสรินยา  รักษา        
         รหัสนักศึกษา  52191880231
     4. นางสาวรัตนาพร  สระทอง  
         รหัสนักศึกษา  52191880263

ประวัติ เขาพระวิหาร

เขาพระวิหาร 
เขาพระวิหาร 
เขาพระวิหาร 
เขาพระวิหาร 
เขาพระวิหาร 
เขาพระวิหาร 
เขาพระวิหาร 
เขาพระวิหาร 



          กลายเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ให้พูดถึงไม่รู้จบจริงๆ สำหรับ "เขาพระวิหาร" หรือ "ปราสาทเขาพระวิหาร" จนทำให้หลายๆ คนอยากรู้ประวัติ ว่า "เขาพระวิหาร" แห่งนี้มีความเป็นมาอย่างไร และกำลังกลายเป็นว่าที่มรดกโลกได้อย่างไร…? แล้วไทยกับกัมพูชามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรกับประวัติศาสตร์เขาพระวิหารแห่งนี้…วันนี้เรามีคำตอบมาเฉลยค่ะ และจะพาย้อนตำนานไปศึกษาประวัติเขาพระวิหารกัน ... อย่ารอช้ารีบตามเข้ามาเลยค่ะ 

          เขาพระวิหาร หรือที่หลายๆ คนรู้จักในนาม "ปราสาทเขาพระวิหาร" (Prasat Preah Vihear) และที่ประเทศกัมพูชาเรียกขานว่า "เปรี๊ยะวิเฮียร์" เป็นปราสาทหินตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาพนมดงรัก ในพื้นที่ทับซ้อนชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างบ้านสรายจร็อม อำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพระวิหาร ของประเทศกัมพูชา และบ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ใกล้ๆ กับอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร  

          เขาพระวิหาร เป็นบริเวณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนพื้นเมืองสมัยก่อน ในกษัตริย์ชัยวรมันที่ 2 ได้กำหนดเขตบริเวณนี้และเรียกชื่อว่า "ภวาลัย" ภายหลังปรากฏชื่อในจารึกภาษาสันสกฤตว่า "ศรีศิขรีศวร" หมายความว่า "ผู้เป็นใหญ่แห่งภูเขาอันประเสริฐ" ตั้งอยู่บนยอดเขาในเทือกเขาพนมดงรัก ตามแนวเส้นกั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา จากหลักฐานต่างๆ คาดว่าสร้างในปี พ.ศ.1432-1443 ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เพื่อใช้เป็นสถานที่สักการะตามความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ โดยสมมติให้เปรียบเสมือน "เขาพระสุเมรุ" (ศูนย์กลางของจักรวาล) โดยการสร้างนั้นก็มีเหตุผลในการรวบรวมอำนาจและความเชื่อของคนในละแวกนั้นเข้าด้วยกัน เพราะในอดีตแถบนั้นมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่รวมกัน พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 จึงโปรดให้สร้างเขาพระวิหารขึ้น เพื่อเป็นจุดยึดเหนี่ยวและศูนย์รวมจิตใจของ ชาวบ้านซึ่งจะทำให้การปกครองง่ายขึ้นด้วย 


ปราสาทเขาพระวิหาร 
          "ปราสาทเขาพระวิหาร" หรือ "ปราสาทพระวิหาร" เป็นโบราณสถานที่มีความงดงาม โดดเด่นอยู่เหนือเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งกั้นพรมแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชามีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 657 เมตร ปราสาทเขาพระวิหารเป็นเสมือนเทพสถิตย์บนขุนเขาหรือ "ศรีศิขเรศร" เป็น "เพชรยอดมงกุฎ" ขององค์ศิวะเทพ (พระอิศวร) ตั้งโดดเด่นอยู่บนยอดเทือกเขาพนมดงรัก มีความยาว 800 เมตร ตามแนวเหนือใต้ ส่วนใหญ่เป็นทางเข้ายาวและบันไดสูงถึงยอดเขา จนถึงส่วนปราสาทประธาน ซึ่งอยู่ที่ยอดเขาทางใต้สุดของปราสาท (สูง 120 เมตรจากปลายตอนเหนือสุดของปราสาท, 525 เมตรจากพื้นราบของกัมพูชา และ 657 เมตรจากระดับ) 

          ปราสาทเขาพระวิหารประกอบด้วยหมู่เทวาลัยและปราสาทหินจำนวนมาก ทั้งหมดสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระศิวะ ซึ่งเทวาลัยหรือปราสาทหินแห่งแรกสร้างขึ้น เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 9 ซากปรักหักพังของเทวาลัยที่เหลืออยู่ มีอายุตั้งแต่สมัยเกาะแกร์ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 10 ครั้น และปราสาทเขาพระวิหารเป็นสถาปัตยกรรมอันน่าทึ่ง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพชนของ "ขะแมร์กัมพูชา" (ขอม) แต่โบราณ ที่อาศัยอยู่ทั้งในกัมพูชาปัจจุบัน และในภาคอีสานของเรา ขะแมร์กัมพูชา เป็นชนชาติที่มีความสามารถยิ่งในการสร้าง "ปราสาท" ด้วยหินทรายและศิลาแลง ซึ่งขะแมร์กัมพูชาก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารติดต่อกันมายาวหลายรัชสมัย กว่า 300 ปี ตั้งแต่กษัตริย์ "ยโสวรมันที่ 1" ถึง "สุริยวรมันที่ 1" เรื่อยมาจน "ชัยวรมันที่ 5-6" จนกระทั่งท้ายสุด "สุริยวรมันที่ 2" และ "ชัยวรมันที่ 7" จากปลายคริสต์ศตวรรษที่ 9 จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 (หรือจากพุทธศตวรรษที่ 15 ถึง 18 หรือก่อนสมัยสุโขทัย 300 ปีนั่นเอง)  

          ทางเข้าสู่ปราสาทประธานนั้น มีโคปุระ (ซุ้มประตู) คั่นอยู่ 5 ชั้น (โคปุระชั้นที่ 5 จึงเป็นส่วนที่ผู้เข้าชมจะพบเป็นส่วนแรก) โคปุระแต่ละชั้นก่อนถึงลานด้านหน้าจะผ่านบันไดหลายขั้น โคปุระแต่ละชั้นจึงเปลี่ยนระดับความสูงทีละช่วง นอกจากนี้โคปะรุยังบังมิให้ผู้ชมเห็นส่วนถัดไปของปราสาท จนกว่าจะผ่านทะลุแต่ละช่วงไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถแลเห็นโครงสร้างปราสาททั้งหมดจากมุมใดมุมหนึ่งได้ 

          เดิมทีปราสาทเขาพระวิหารอยู่ในเขตการปกครองของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับบ้านภูมิซรอล ตำบลเสาธงชัย อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ (ค.ศ.1899, ร.ศ.-118) และเมื่อ พ.ศ. 2442 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ได้เสด็จไปยังปราสาทแห่งนี้ และทรงขนานนามว่า "ปราสาทพรหมวิหาร" ซึ่งต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า "ปราสาทพระวิหาร" ซึ่งพระองค์ได้จารึก ร.ศ. และพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า 118 สรรพสิทธิ  

          ต่อมาเมื่อปี 2450 จักรวรรดินิยมฝรั่งเศส (ปกครองเขมรขณะนั้น) อาศัยแสนยานุภาพทางทหารบีบให้รัฐบาลสยาม (ไทย) ยอมเขียนแผนที่กำหนดให้เขาพระวิหารอยู่ในดินแดนของกัมพูชา ในการทำสนธิสัญญาเพิ่มเติม รัฐบาลสยามก็ยอมรับแผนที่ที่ฝรั่งเศษสร้างขึ้นมาแต่โดยดีโดยมิได้ทักท้วง (ซึ่งแต่เดิมถ้าแบ่งตามสันปันน้ำเทือกเขาพนมดงรัก เขาพระวิหารจะอยู่ในฝั่งไทยแต่พอแบ่งตามแผนที่ใหม่ของปี 1907จะอยู่ในฝั่งกัมพูชา) อาจจะเป็นเพราะฝรั่งเศสเป็นมหาอำนาจอยู่ในขณะนั้น และคนไทยก็ยังสามารถเข้าไปยังปราสาทเขาพระวิหารได้โดยง่าย  

          ทั้งๆ ที่ไม่ว่าจะตามสนธิสัญญาเดิม พ.ศ.2447 หรือตามสภาพภูมิศาสตร์ กำหนดให้อยู่ในดินแดนของไทยอย่างชัดเจน จนวันที่ 6 ตุลาคม 2502 รัฐบาลเจ้านโรดมสีหนุแห่งกัมพูชา ภายใต้การหนุนหลังของฝรั่งเศส ได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลก ขอให้ไทยถอนกองกำลังทหารออกจากเขาพระวิหาร และขอให้ศาลชี้ขาดว่าอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารคืน (ยื่นฟ้องทั้งหมด 73 ครั้ง) ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกได้ตัดสินให้อธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา ด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง โดยบริเวณดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 150 ไร่ 


ลักษณะสำคัญของปราสาทเขาพระวิหารจะประกอบด้วย... 
          1. บันไดดินด้านหน้าของปราสาท ซึ่งบันไดดินด้านหน้าเป็นทางเดินขึ้นลงขนาดใหญ่ อยู่ทางทิศเหนือของตัวปราสาท ลาดตามไหล่เขา บางชั้นสกัดหินลงไปในภูเขา มีขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 75.50 เมตร มีจำนวน162 ขั้น สองข้างบันไดมีฐานสี่เหลี่ยมตั้งเป็นกระพัก (กระพักแปลว่า ไหล่เขาเป็นชั้นพอพักได้) ขนาดใหญ่เรียงรายขึ้นไป ใช้สำหรับตั้งรูปสิงห์ทวาร-บาล (ทะ-วา-ละ-บาน) เพื่อเฝ้าดูแลรักษาเส้นทาง 

         2. สะพานนาคราช หรือ ลานนาคราช อยู่ทางทิศใต้ของบันไดหินด้านหน้า ปูด้วยแผ่นหินเรียบ มีขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 31.80 เมตร สองข้างสะพานนาคราชสร้างเป็นฐานเตี้ยๆ บนฐานมีนาคราช 7 เศียร จำนวน 2 ตัว แผ่พังพานหันหน้าไปทางทิศเหนือ ลำตัวอยู่บนฐานทั้งสอง ทอดไปทางทิศใต้ ส่วนหางของนาคราชชูขึ้นเล็กน้อย นาคราชทั้งสองตัวเป็นนาคราชที่ยังไม่มีรัศมีเข้ามา ประกอบมีลักษณะคล้ายๆ งูตามธรรมชาติ เป็นลักษณะของนาคราชในศิลปะขอม แบบปาปวน  

ลานนาคราช


          3. โคปุระ (ซุ้มประตู)ชั้นที่ 5 จะมีภาพวาดโดยปามังติเอร์อยู่ สร้างเป็นศาลาจตุรมุข รูปทรงกากบาทไม่มีฝาผนังกั้น มีแต่บันไดและซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ สร้างอยู่บนฐานบัวสี่เหลี่ยมย่อมุม ฐานสูง 1.8 เมตร บันไดหน้าประตูซุ้มทั้ง 4 ทิศตั้งรูปสิงห์นั่ง เสาโคปุระสูง 3.5 เมตร เป็นศิลปะแบบเกาะแกร์ ยังมีร่องรอยสีแดงที่เคยประดับตกแต่งตัวปราสาทเอาไว้ แต่ส่วนหลังคากระเบื้องนั้นหายไปหมดแล้ว บันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 5 อยู่ทางทิศเหนือ เป็นบันไดหินมีลักษณะค่อนข้างชัน ทางทิศตะวันออกของโคปุระชั้นที่ 5 มีเส้นทางขึ้นคล้ายบันไดหน้าแต่ค่อนข้างชัน และชำรุดหลายตอน ยาว 340 เมตรถึงไหล่เขา  

          4. โคปุระ (ซุ้มประตู)ชั้นที่ 4(ปราสาทหลังที่ 2) จะภาพของการกวนเกษียณสมุทร ณ เขาพระวิหาร ถือเป็น "หนึ่งในผลงานชิ้นเอกอุของปราสาทเขาพระวิหาร" ทับหลังเป็นภาพของพระนารายณ์บรรทมสินธุ์อยู่เหนืออนันตนาคราช ซึ่งทางดำเนินจากโคปุระ ชั้นที่ 5 มาเป็นลานหินกว้างประมาณ 7 เมตร สองข้างจะมีเสานางเรียงตั้งอยู่ทั้งสองด้าน แต่ก็มีปรักหักพังไปมาก โคปุระชั้นที่ 4 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข มีกำแพงด้านทิศใต้เพียงด้านเดียว ยาว 39 เมตรจากตะวันออกไปตะวันตก กว้าง 29.5 เมตร จากเหนือไปใต้ เป็นศิลปะสมัยหลังโคปุระ ชั้นที่ 5 คือ แคลง/บาปวน ด้านนอกตั้งรูปสิงห์ หน้าบันเป็นภาพของการกวนเกษียณสมุทร  

          5. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 3 (ปราสาทหลังที่ 1) เป็นโคปุระหลังที่ใหญ่โตมโหฬารที่ยังสมบูรณ์ที่สุด ลักษณะการสร้างคล้ายกับ โคปุระ ชั้นที่ 1 และ 2 แต่ผิดตรงที่มีฝาผนังกั้นล้อมรอบความใหญ่โตมากกว่า และขนาบด้วยห้องสองห้อง ตัวปราสาทประธานนั้นสามารถผ่านเข้าไปทางลานด้านหน้า บันไดกว้าง 3.6 เมตร สูง 6 เมตร สองข้างมีฐานตั้งรูปสิงห์นั่ง 5 กระพัก มุขเหนือหน้าบันเป็นรูปพระกฤษณะยกภูเขาโควรรธนะ ทับหลังเป็นรูปพระนารายณ์ 4 กรทรงครุฑ และจากโคปุระชั้นที่ 3 มีบันได 7 ขั้นขึ้นไปสู่ถนนที่ยาว 34 เมตร มีเสานางเรียงปักรายข้างถนน ข้างละ 9 ต้น ถัดจากเสานางเรียงไปเป็นสะพานนาค 7 เศียร 

         6. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 2 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข มีกำแพงด้านทิศใต้เพียงด้านเดียวอยู่บนไหล่เขาทางทิศเหนือของโคปุระชั้นที่ 2 บริเวณพื้นราบของเส้นทางดำเนินและสองข้างทางขึ้นลงของบันได จะพบรอยสกัดลงในพื้นศิลามีลักษณะเป็นหลุมกลมๆ สำหรับใส่เสาเพื่อทำเป็นปะรำพิธี โดยมีประธานในพิธีนั่งอยู่ในปะรำพิธีเพื่อดูการร่ายรำบนเส้นทางดำเนิน กรอบประตูห้องมีจารึกอักษรขอมระบุบปีศักราชตกอยู่ในสมัยพระเจ้าสุรยวรมันที่ 1 ด้านหน้ามนเทียรมีบันไดตรงกับประตูซุ้มทั้ง 3 ประตู และมีชานต่อไปยังเฉลียงซ้ายและขวา ที่สนามด้านหน้ามีภาพจำหลักตกหล่นอยู่หลายชิ้น เช่น รูปกษัตริย์กำลังหลั่งน้ำทักษิโณฑกแก่พราหมณ์  

         7. โคปุระ (ซุ้มประตู) ชั้นที่ 1 สร้างเป็นศาลาจตุรมุข รูปทรงกากบาทไม่มีฝาผนังกั้น มีแต่บันไดและซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ สร้างอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม-ย่อมุม บันไดทางขึ้นโคปุระ ชั้นที่ 1 ทางทิศเหนือ เป็นบันไดหินมีลักษณะค่อนข้างชัน เนื่องจากมีความเชื่อกันว่าการที่จะเข้าเฝ้าเทพนั้น จะไปด้วยอาการเคารพนพนอบในลักษณะหมอบคลานเข้าไป ทางทิศตะวันออกมีเส้นทางขึ้นคล้ายบันไดหน้าแต่ค่อนข้างชัน และชำรุดหลายตอนเป็นเส้นทางขึ้นลง ไปสู่ประเทศกัมพูชา เรียกว่า "ช่องบันไดหัก" 

          8. สระสรง จะอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของทางดำเนินห่างออกไป 12.40 เมตร จะพบสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 16.8 เมตร ยาว 37.80 เมตร กรุด้วยท่อนหินเป็นชั้นๆ มีลักษณะเป็นขั้นบันได เรียกว่าสระสรงกล่าวกันว่าใช้สำหรับเป็นที่ชำระร่างกายก่อนที่จะกระทำพิธีทางศาสนา 

เป้ยตาดี


          9. เป้ยตาดี เป้ยเป็นภาษาเขมร ซึ่งแปลว่า ชะง่อนผาหรือโพงผา ตามคำบอกเล่าว่านานมาแล้วมีพระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ "ดี" จาริกมาปลูกเพิงพำนักอยู่ที่นี่จนมรณภาพไป ชาวบ้านจึงเรียกลานหินนี้ว่า "เป้ยตาดี" ซึ่งบริเวณตรงยอดเป้ยตาดีสูงกว่าระดับน้ำทะเล 657 เมตร ถ้าวัดจากพื้นที่เชิงเขาพื้นราบฝั่งประเทศกัมพูชาสูงประมาณ 447 เมตร ตรงชะง่อนผาเป้ยตาดี จะมีรอยสักพระหัตย์ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ว่า 118-สรรพสิทธิ แต่ก่อนมีธงไตรรงค์ของไทยอยู่ที่บริเวณผาเป้ยตาดี ในปัจจุบันคงเหลือแต่ฐานไตรรงค์  


          ปราสาทเขาพระวิหารนับได้ว่าเป็นปราสาทขอมที่สำคัญแห่งหนึ่ง ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์การก่อสร้างเทวสถานของฮินดู และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งของไทยและกัมพูชาอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันอุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร มีเนื้อที่ 81,250 ไร่ และได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 14 ก ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2541 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 83 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของไทย 

         อย่างไรก็ตาม เรื่องราวการเสนอให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา ก็ยังเป็นข้อกังขาของคนไทยหลายๆ คน เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา กลายเป็นประเด็นท็อปฮิตในขณะนี้ และล่าสุดศาลปกครองกลาง ยังได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับมติคณะรัฐมนตรี ที่นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและคณะรัฐมนตรี ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทย-กัมพูชา ในการที่กัมพูชาจะขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งบทสรุปเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปนั้นเราคนไทยคงต้องติดตามกันค่ะ


อ้างอิง  http://hilight.kapook.com